วิธีการปลูกดอกซัลเวีย SAL-101

ลักษณะช่อดอกสีแดงสด ก้านช่อดอกยาวประมาณ 15-20 ซม. ออกดอกได้ดีในฤดูหนาว ชอบแสงแดดแบบร่มรำไร ทรงพุ่มสูง ประมาณ 30 ซม. ออกดอกได้นานหลายสัปดาห์ และควรมีการเด็ดยอด เพื่อให้ทรงพุ่มแน่น

การเพาะเมล็ดมี 2 วิธี

  • การเพาะเมล็ดในตะกร้า 
  1. เตรียมวัสดุเพาะ 2 ส่วน ทรายละเอียด 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน
  2.  เตรียมตะกร้า และนำกระดาษหนังสือวางในตะกร้า เพื่อกันวัสดุเพาะไหลออก
  3. นำวัสดุเพาะที่เตรียมไว้บรรจุในตะกร้า ความหนาประมาณ ¾ ของความสูงตะกร้า  
  4. นำไม้ทำร่อง ความลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่อง ประมาณ 3 เซนติเมตร 
  5. หยอดเมล็ดลงในร่อง อย่าให้หนาแน่นเกินไป แล้วกลบเมล็ดหนาประมาณ 0.4 เซนติเมตร แล้วยกตะกร้าเข้าโรงเรือนด้วยวัสดุเพาะละเอียดโดยร่อนผ่านตะกร้าบางๆ
  6. ดูแลรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้วัสดุเพาะมีความชื้นเพียงพอ ไม่ควรให้น้ำจนวัสดุเพาะแฉะ
  7. เมื่อกล้าอายุประมาณ  7 วัน ย้ายต้นกล้าลงในถาดเพาะ         
  •  การเพาะเมล็ดในถาดเพาะ  
  1. นำวัสดุเพาะที่เตรียมไว้  บรรจุลงในถาดเพาะให้เต็มทั่วทุกหลุม หลังจากนั้นกระแทกถาดเพาะเบาๆพอประมาณ 1 ครั้งเพื่อให้ดินแน่นขึ้น ไม่แนะนำให้ใช้มือกดเพราะดินจะแน่นจนเกินไป 
  2. จากนั้นให้หยอดเมล็ดลงถาดเพาะ 1 เมล็ด ต่อ 1 หลุม แล้วนำวัสดุเพาะกลบเมล็ดบางๆ
  3. การกลบเมล็ด   หลังจากหยอดหรือหว่านเมล็ดแล้ว  สำหรับเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก ส่วนใหญ่จะเพาะในตะกร้า ไม่ควรกลบเมล็ดหรือกลบบางๆ การกลบเมล็ดหนาสำหรับเมล็ดเล็กนั้น จะส่งผลต่ออัตราการงอกที่ลดลง   สำหรับเมล็ดที่มีขนาดใหญ่สามารถกลบเมล็ดได้หนาขึ้น วัสดุที่ใช้กลบเมล็ดแนะนำให้ใช้วัสดุเพาะหรือขุยมะพร้าวละเอียด  ร่อนผ่านตระแกรงลงบนถาดเพาะได้โดยตรง  สังเกตว่าบริเวณใดบาง ให้ร่อนเพื่อกลบซ้ำบริเวณนั้น
  4. นำถาดไปวางในที่พรางแสง และรดน้ำให้ชุ่ม

การย้ายปลูก

  • การย้ายปลูกต้นกล้าลงกระถางหรือถุงดำ  
  1. อายุประมาณ 25-30 วัน หลังหว่านเมล็ด ให้สังเกต ต้นกล้ามีใบจริง 2 คู่ขึ้นไป ย้ายลงปลูก  
  2. ย้ายปลูกต้นกล้าลงถุงพลาสติก  โดยการเจาะหลุมดินให้ลึกและกว้างพอกับดินที่หุ้มรากมา แล้วนำต้นกล้าหยอดลงในหลุมแล้วกลบด้วยดิน  
  3. หากต้นกล้ายืดหรือยาวกว่าปกติให้เจาะหลุมลึกขึ้นอีก หยอดต้นกล้าลงหลุมและกลบให้ชิดถึงใบจริงคู่แรก ช่วยแก้ปัญหาต้นกล้ายืดผิดปกติได้  
  4. ในกรณีที่ต้องการปลูกในถุงดำหรือกระถางไม่ย้ายลงแปลง ให้ดูแลต้นกล้าจนกระทั่งต้นโต 

การย้ายปลูกต้นกล้าลงแปลง

  1. อายุกล้าหลังย้ายลงถาดเพาะประมาณ 15-20 วัน หรือมีใบจริง 2 คู่ใบขึ้นไป  ย้ายลงแปลงปลูก
  2. ก่อนย้ายกล้า งดให้น้ำต้นกล้า เพื่อให้ดินเกาะรากต้นกล้า ตุ้มไม่แตกเมื่อนำมาลงแปลง
  3. ดึงต้นกล้าเบาๆ พร้อมดินหุ้มรากไปมากๆ เพื่อรากจะได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
  4. ให้น้ำในแปลงปลูกอย่างเพียงพอ ไม่แห้งหรือแฉะจนเกินไป เพราะถ้าขาดน้ำ ต้นกล้าอาจเหี่ยว และตายได้ เพราะรากต้นกล้าไม่มีน้ำมาหล่อเลี้ยง
  5. การวางสายน้ำ สายน้ำหยดต้องอยู่ตรงกับรอยเจาะของรูพลาสติก เพื่อที่น้ำจะหยดลงในจุดที่ปลูกต้นกล้าด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นกล้าได้รับน้ำอย่างเพียงพอ

หลักการปฏิบัติในการย้ายปลูก

  1. ย้ายต้นกล้าในตอนที่แดดอ่อนและในร่ม
  2. เตรียมแปลงปลูกอย่างดี รดน้ำแปลงให้ดินชื้นก่อนการย้ายปลูก
  3. ดึงต้นกล้าเบาๆ พร้อมดินหุ้มรากไปให้มากๆ เพื่อรากจะได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
  4. ปลูกในหลุมที่กว้างพอกับดินที่หุ้มรากมา และควรปลูกให้ใบจริงอยู่ใกล้กับระดับดินมากที่สุด เพื่อที่เวลารดน้ำต้นกล้า จะไม่หักล้มง่าย และแก้ปัญหาต้นกล้ายืด

การเตรียมดินปลูกสำหรับบรรจุลงกระถาง

         การเตรียมดินปลูกต้องพิถีพิถันพอสมควร  เพราะไม้ดอกส่วนใหญ่มีอายุการออกดอกสั้น โดยเฉพาะไม้ดอกที่ไวต่อแสงจะออกดอกทันทีเมื่อครบอายุและต้นสมบูรณ์  ดินปลูกต้องเป็นดินโปร่ง ร่วนซุย มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี  ในขณะเดียวกันอุ้มความชื้นได้ดีพอสมควร มีความเป็นกรดเล็กน้อย มี pH ประมาณ 6.5 – 7 ส่วนผสมของดินปลูกควรหาง่ายในท้องถิ่น  สำหรับดินผสม  1  ลูกบาศก์เมตร  ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร  15 – 15 – 15  จำนวน  0.5  กิโลกรัม  และสูตร 0 – 46 – 0   จำนวน  1  กิโลกรัม   ผสมกันตามสัดส่วน  

  1. สูตรที่ 1 ส่วนประกอบดินผสมโดยทั่วไป  ได้แก่  ดินร่วน  ปุ๋ยหมัก  แกลบดิบ   แกลบเผา   ขุยมะพร้าว อัตราส่วน  1 : 1 : 2 : 2 : 2
  2. สูตรที่ 2 ส่วนประกอบดินผสมโดยทั่วไป  ได้แก่ แกลบดิบ  ขุยมะพร้าว  ดิน   อัตราส่วน 3 : 5 : 2
  3. สูตรที่ 3 ขุยมะพร้าว  ทรายหยาบ  + โดโลไมท์  อัตราส่วน 3 : 1 +โดโลไมท์ อัตราส่วนผสมรวมกัน 240 ลิตร ( ขุยมะพร้าว 180 ลิตร + ทรายหยาบ 60 ลิตร  ใช้โดโลไมท์ 0.5 กก.) หรือ ทั้งนี้สามารถดัดแปลงสูตรได้ตามความเหมาะสม ตามประสบการณ์ หรือคู่มืออื่นๆ

การเตรียมดินปลูกสำหรับปลูกลงแปลง

  1. ไถพรวนและพลิกหน้าดินตากไว้ประมาณ 7 – 10 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช
  2. หลังจากนั้นให้ทำการไถคราดเพื่อกำจัดวัชพืชออกให้หมดและทำให้ดินร่วนซุย ให้รากพืชเดินได้สะดวกเหมาะสำหรับการปลูก
  3. ถ้าดินมีปัญหาโดยมีค่าความเป็นกรด ด่าง น้อยกว่า 6. 5 ควรเติมปูนขาวเพื่อปรับสภาพ pH ของดิน อัตรา 100 – 300 กก./ไร่ ในขณะใส่ปูนขาวดินควรมีความชื้นเพื่อให้ปูนทำปฏิกิริยากับดินได้ดียิ่งขึ้น และปล่อยทิ้งไว้ 1 สัปดาห์
  4. ผสมปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 รองพื้น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และเพิ่มแร่ธาตุในดิน
  5. จากนั้นตีพรวนดินให้ละเอียด และขึ้นแปลงปลูก ขนาด 1.20 เมตร สำหรับแปลงคู่ และ 70-80 ซม. สำหรับแปลงเดี่ยว คามความยาวของขนาดพื้นที่
  6. คลุมด้วยพลาสติกสองหน้าสีดำ-เงิน โดยสีเงินอยู่ด้านบน 

การดูแลรักษา

การให้น้ำ  ควรรดน้ำทุกวันในตอนเช้าหรือเย็น หากรดน้ำในเวลาเย็นควรให้น้ำ ที่ค้างอยู่บนใบแห้งก่อนพระอาทิตย์ตกดิน   และเมื่อมีดอกบาน อย่ารดน้ำให้ถูกดอกเพราะอาจทำให้ดอกช้ำหรือเน่าได้  การให้น้ำควรให้สภาพดินชุ่มสลับแห้ง ไม่ควรให้ชุ่มตลอดเวลา เพราะอาจเป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า และทำให้ระบบรากไม่พัฒนา ส่งผลให้ต้นแคระแกร็น ไม่สมบูรณ์  สามารถสังเกตสีของดินหรือวัสดุเพาะ หากมีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม แสดงว่าดินยังชุ่มหรือมีน้ำอยู่ เมื่อดินเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลอ่อน แห้งแข็ง แสดงว่าดินขาดน้ำ

การให้ปุ๋ยสูตรน้ำ

  • ระยะที่ 1  เสริมสร้างการเจริญเติบโตของราก  ลำต้นและใบ  หลังจากย้ายกล้าแล้วประมาณ 7 วัน  ให้ปุ๋ยไนโตรเจนสูง  เช่น สูตร  15 – 0 – 0 หรือ 25 – 7 – 7  ในอัตรา 1  ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ  20   ลิตร รดทุกๆ  5 – 7  วัน  ประมาณ  2 – 3  ครั้ง
  • ระยะที่ 2   ช่วงการเจริญเติบโตถึงระยะสังเกตเห็นตุ่มดอก  ให้ปุ๋ยสูตร 15 - 15 - 15  อัตรา  75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ  ละลายน้ำ   20 ลิตร รดทุกๆ 3 วัน  จนกระทั่งดอกเริ่มบาน
  • ระยะที่ 3  เมื่อดอกเริ่มบาน  ให้ปุ๋ยสูตร ให้ปุ๋ยสูตร 8 – 24 – 24  หรือ 13 – 13 – 21  อัตรา  75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ  ละลายน้ำ   20 ลิตร รดทุกๆ 3 วัน  ต่อเนื่องตลอดอายุการให้ดอก

ปุ๋ยเม็ด: สามารถให้ปุ๋ยสูตรต่างๆ เหมือนสูตรน้ำ ระยะที่ 1 – 3  อัตรา 10 กรัม/ต้น   ทุกๆ  7 วัน  โดยฝังลงในดินหรือใช้ดินกลบ

ข้อควรระวัง :  

  • การให้ปุ๋ยเม็ด ระวังอย่าให้โดนโคนต้นเพราะอาจทำให้เน่าและไหม้ได้ ควรฝังลงดินหรือใช้ดินกลบ

  • การให้ปุ๋ยน้ำ อาจสัมผัสโดนใบและทำให้ใบไหม้ได้ ดังนั้นเมื่อรดปุ๋ยแล้วให้รดน้ำเพื่อล้างใบตาม

หมายเหตุ :  หากไม่สามารถหาปุ๋ยได้ตามสูตร สามารถใช้ปุ๋ยสูตร  15 – 15 – 15 หรือสูตรเสมอทดแทนได้ทุกระยะ  แต่การเจริญเติมโตอาจไม่ดีเท่าสูตรที่แนะนำ  หรือสำหรับบางท่านที่ไม่สะดวกในการให้ปุ๋ยบ่อยครั้ง สามารถใช้ปุ๋ยละลายช้า สูตร  14 – 14 – 14  แนะนำเป็นตัว เนเจอร์ โค้ท สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารพืช ได้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ นานถึง 3 เดือน แต่จะไม่ดีเท่าการให้ปุ๋ยตามระยะ

 โรคและแมลงศัตรูพืช

  • โรคใบจุด

ลักษณะอาการ: ใบเริ่มมีอาการจุดสีขาวแล้วเนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเนื้อใบที่มีแผลจะค่อยๆแห้ง และร่วงหล่นทำให้ลำต้นทรุดโทรม

การป้องกัน: ระมัดระวังการให้น้ำเนื่องจากเชื้อสามารถแพร่กระจายในละอองน้ำได้

สารเคมีที่ใช้: คลอโรธาโลนิล แมนโคเซบ ไอโพรไดโอน ไดฟีโคลนาโซน 

***“โรคนี้ระบาดในฤดูฝนในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงๆ “

  • โรคดอกเน่า

ลักษณะอาการ: ระบาดหนักในช่วงฤดูฝน หากเกิดในช่วงดอกกำลังบานจะทำให้ดอกเกิดอาการไหม้ และดอกไม่สามารถบานได้ หากเชื้อเข้าทำลายในระยะดอกบานจะทำให้กลีบดอกมีสีน้ำตาล

การป้องกัน: มัดระบาดในช่วงที่มีอากาศร้อนชื้น เช่น มีฝนตกสลับกับแดดออก

สารเคมีที่ใช้: คลอโรธาโลนิล มาเนบ ซีเนคาร์เบนดาซิม

***โรคนี้ระบาดในฤดูฝนในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูงๆ 

  • โรคเหี่ยวเหลือง

ลักษณะอาการ: เริ่มจากใบที่อยู่บริเวณโคนต้น แสดงอาการใบเหลืองและจะแห้งตายใบทั้งต้น ส่วนของลำต้นจะแบนและเหี่ยว และลำต้นลีบ บริเวณคอดิน หรือเหนือดิน มักมีสีแดงคล้ำกว่าส่วนอื่น

การป้องกัน: หากพบโรคระบาดให้ขุดต้นถอนทิ้งและพยายามอย่าให้น้ำผ่านบริเวณที่เกิดโรค

สารเคมีที่ใช้: เบโนมิล ไธโอฟาเนททิล อีทรีไดอาโซล

***การปลูกแบบยกร่องแปลงจะช่วยควบคุมการระบาดของโรคได้ “

  • โรคเหี่ยวเขียว

ลักษณะอาการ: เริ่มจากใบที่อยู่ด้านบนเริ่มแสดงอาการเหี่ยวสลดคล้ายอาการขาดน้ำโดยต้นจะแสดงอาการเหี่ยวในช่วงกลางวันที่มีแสงแดด ส่วนตอนเช้าและตอนเย็นต้นจะมีอาการปกติและหลังจากนั้น 4-5 วันต้นจะตายโดยที่ใบยังมีสีเขียวอยู่

การป้องกัน: หากพบโรคระบาดให้ขุดต้นถอนทิ้งและพยายามอย่าให้น้ำผ่านบริเวณที่เกิดโรค

สารเคมีที่ใช้: สเตปโตมัยซิน 120 กรัม ผสมเมทาแลกซิล 25 % 200กรัม/น้ำ 200 ลิตร รดโคนต้น

***การปลูกแบบยกร่องแปลงจะช่วยควบคุมการระบาดของโรคได้ “

  • โรคกล้าเน่า

ลักษณะอาการ: ต้นกล้าจะแสดงอาการใบซีดเหี่ยว และหักฟุบลงไปกับพื้น สาเหตุเกิดจากเชื้อรา โรคจะเกิดขุ้นเมื่อวัสดุเพาะเมล็ดระบายน้ำไม่ดี มีความชื้นสูงเกินไป และมีต้นกล้าขึ้นหนาแน่น มาก

การป้องกัน: รดน้ำเฉพาะช่วงเช้า ดูแลพื้นที่เพาะกล้าไม่ให้มีน้ำขัง อากาศถ่ายเทได้สะดวก

สารเคมีที่ใช้: ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แคปเทน แมนโคเซบ เซอร์โกมิล

***พบการเกิดโรคได้ ช่วงต้นกล้ามีใบเลี้ยง ไปจนถึง มีใบจริง 3-4 คู่ “

  • โรคหนอนชอนใบ

ลักษณะอาการ: ทำลายใบอ่อน พบการระบาดรุนแรงมากตัวหนอนที่ฟักจากไข่ไชชอนไปทางยาวหรือสร้างอุโมงค์กัดกิน และขับถ่ายอยู่ภายใน รอยทำลายของหนอนชอนใบชนิดนี้มีความยาว โดยเฉลี่ย 17.5 เซนติเมตร ใบถูกทำลายแสดงลักษณะแคระแกนบิดเบี้ยว

การป้องกัน: การเพิ่มสารเคมี ป้องกันกำจัดควรพ่นในช่วงระหว่าง 6.00-9.00

สารเคมีที่ใช้: คาร์แทป ไบเฟนทริน พิโพรนิล

***ระบาดในช่วงย้ายกล้าใหม่ๆ ก่อนเด็ดยอด “

  • หนอนกัดดอก

ลักษณะอาการ: หนอนจะกัดดอกจนกลีบดอกร่วงเสียหายโดยเข้าทำลายขณะดอกเริ่มบาน

การป้องกัน: สังเกตุแปลงที่มีผีเสื้อบินมากๆ เนื่องจากการวางไข่เป็นตัวหนอน

สารเคมีที่ใช้: เมโทมิล อะบาแมกติน ( โซนิคติน ) ไซเพอร์เมทริน

***ระบาดมากในช่วงที่มีตุ่มดอก***

  • เพลี้ยไฟ 

ลักษณะอาการ: ส่วนยอดใบจะหงิกงอ ส่งผลให้ดอกไม้ไม่พัฒนาและลำต้นแคระแกร็น หากเป็นช่วงที่พืชขาดน้ำแล้วไม่ทำการป้องกันจะทำให้พืชตายได้ นอกจากนั้นเพลี้ยไปยังเป็นพาหะนำโรคไวรัส มาสู่ต้นได้อีกด้วย

การป้องกัน: ควรตัดแต่งกิ่งให้ต้นโปร่ง หากพบการระบาดควรตัดแต่งส่วนที่พบการระบาด ใส่ถุงให้มิดชิด แล้วพ่นสารเคมี

สารเคมีที่ใช้: ฟูโนบูคาร์บ มาลาไทออน เฟนิโตรไทออน

 **ใช้สารเคมีพ่นกำจัดเพลี้ยไฟทุกๆ 5-7 วัน หากพบระบาดมากทุกๆ 2-3 วัน โดยมากในช่วงหลังฝนตก ที่มีความชิ้นสูง และอากาศร้อนอบอ้าว ควรฉีดพ่นในช่วงสาย และช่วงบ่าย หลีกเลี่ยงการฉีดพ่นยาในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด เพราะตัวยาบางชนิดจะทำให้ใบไหม้ได้ ( มีระบาดในช่วงหลังเด็ดยอด )

  • เพลี้ยอ่อน

ลักษณะอาการ: เพลี้ยอ่อน ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบ ยอดอ่อนและดอก ทำให้หงิกงอเป็นคลื่น หากมีการระบาดมากๆ จะทำให้ไม้ดอกเหี่ยวและอ่อนแอ  ไม่ออกดอก บริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดมักจะพบเห็นมดอาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมา จะทำให้เกิดราดำ

การป้องกัน: พยายามสำรวจแปลงปลูกพืช หากพบมดให้กำจัด

สารเคมีที่ใช้: oxydemeton-methyl omethoate carbosulfan 

 **สำหรับในฤดูแล้ง หากพบมีการระบาดมากให้ใช้สารสกัดจากสะเดา หรือยาสูบฉีดพ่น หากมีการระบาดรุนแรงใช้สารเคมีฉีดพ่น ตามอัตราที่ฉลากระบุ หลังจากนั้น 7 วัน ให้สำรวจแปลงดูหากยังมีการระบาดอยู่ให้ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้ง

Short URL :