วิธีการปลูกดาวเรืองฝรั่งเศส MAR-601

ดอกสีส้ม ขนาดดอก 6 ซม. เริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 60 วันหลังหยอดเมล็ด ดอกบานอยู่เป็นเวลาหลายวัน ขนาดทรงพุ่ม 25-30 ซม. ปลูกได้ทุกฤดู ควรมีการเด็ดยอด เพื่อให้ทรงพุ่มแน่น เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 6 ใบ

การเตรียมดินปลูกสำหรับลงแปลง

  1. ไถพรวนและพลิกหน้าดินตากไว้ประมาณ 7-10 วัน นำเศษพืชออกจากแปลงปลูก และหว่านปูนขาวโดโลไมท์อัตรา 200-400 กก./ไร่ เพื่อปรับสภาพดิน 
  2. ใส่ปุ๋ยอิทรีย์เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และเพิ่มแร่ธาตุในดิน จากนั้นตีพรวนดินให้ละเอียด 
  3. ขึ้นแปลงปลูก ขนาด 1.20 เมตร สำหรับแปลงคู่ และ 70-80 ซม. สำหรับแปลงเดี่ยว คลุมด้วยพลาสติกสองหน้าสีดำ-เงิน โดยสีเงินอยู่ด้านบน

สูตรดินผสมสำหรับย้ายปลูกลงกระถาง

  1. ดินร่วน 1 ส่วน
  2. แกลบดิบ 2 ส่วน
  3. แกลบดำ 1 ส่วน 
  4. ปุ๋ยคอก 1 ส่วน
  5. โดโลไมท์ เพื่อปรับสภาพดิน  0.5 กิโลกรัม
  6. ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 อัตรา 250 กรัม

การเพาะเมล็ดดาวเรืองที่นิยมมี 2 วิธี 

การเพาะเมล็ดในตะกร้า

  1. เพาะเมล็ดในตะกร้าพลาสติก ขนาด 29 x 36 เซนติเมตร หรือใหญ่กว่านี้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเมล็ดที่ใช้เพาะ 
  2. ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์วางรอบตะกร้าโดยตัดกระดาษให้พอดีกับขอบตะกร้าเพื่อป้องกันวัสดุเพาะร่วงแล้วนำวัสดุเพาะใส่ตะกร้าประมาณ ¾  ของความสูงตะกร้า 
  3. ใช้ไม้บรรทัดเกลี่ยผิววัสดุให้เรียบ ทำร่องรูปตัววีลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 3 เซนติเมตร
  4. หยอดเมล็ดดาวเรืองลงในร่องอย่าให้แน่นเกินไปแล้วกลบเมล็ดหนาประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยกตะกร้าเข้าโรงเรือนป้องกันฝน 
  5. ดูแลรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้วัสดุเพาะมีความชื้นเพียงพอ เมื่อต้นกล้าอายุ 6-7 วัน (มีใบเลี้ยง 2 ใบ) จึงย้ายต้นกล้าลงถาดหลุมต่อไป  

การเตรียมเพาะเมล็ดในถาด

  1. เตรียมน้ำสำหรับผสมวัสดุเพาะโดยผสม โพรพาโมร์คาร์บ อัตรา 0.4 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเมทาแลกซิล เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน

  2. ผสมน้ำที่เตรียมไว้กับพีทมอส โดยค่อยๆเติมน้ำทีละน้อย  คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นลองบีบวัสดุเพาะเพื่อทดสอบว่า น้ำเข้ากับวัสดุเพาะได้ดีหรือไม่ หากบีบน้ำแล้วมีน้ำออกมาเล็กน้อยตามร่องมือ และวัสดุเพาะเกาะกันเป็นก้อนดีถือว่าใช้ได้ หากมีน้ำไหลออกมามากเกินไป ให้ผสมวัสดุเพาะเพิ่ม หรือไม่มีน้ำซึมออกมาแสดงว่าน้ำน้อยเกินไป ให้เพิ่มน้ำและบีบทดสอบอีกครั้ง 

  3. นำวัสดุเพาะที่เตรียมไว้ใส่ถาดเพาะให้เต็มหลุม กระแทก ถาดเพาะ 1 ครั้งเพื่อให้วัสดุเพาะลงถึงก้นหลุม เติมวัสดุเพาะให้เต็ม แล้วปาดหน้าดินถาดเพาะให้เรียบ พอดีกับหลุมนำถาดเพาะเปล่ามาวางบนถาดเพาะที่ใส่วัสดุเพาะแล้ว จากนั้นกดถาดเปล่าเพื่อทำหลุม โดยหลุมที่กดควรมีขนาดลึกพอดีกับเมล็ดดาวเรืองฝรั่งเศส ประมาณ 0.5 ซม.

  4. ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองเศส 1 เมล็ดต่อ 1 หลุม นำวัสดุเพาะที่ยังไม่ได้ผสมน้ำมาใส่ตะกร้าเพื่อร่อนกลบเมล็ดโดยกลบให้มิดเมล็ด เนื่องจากเมล็ด ดาวเรืองฝรั่งเศส ไม่ต้องการแสงในการงอก และเป็นการรักษาสภาพความชื้นในการงอกของเมล็ด

  5. พ่นสารเคมี โพรพาโมคาร์บ อัตรา 1 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเมทาแลกซิล 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร พ่นให้ทั่วถาด เพื่อป้องโรคเน่าคอดินอีกครั้งนำถาดเข้าไปในบริเวณที่พรางแสง 80%-90% และรักษาความชื้นโดยการพ่นน้ำ อย่าให้ถาดเพาะแห้งจนเกินไปเพราะจะทำให้เมล็ดไม่งอกหรือแฉะจนเกินไป อาจทำให้เป็นโรคเน่าคอดินในระยะงอกของเมล็ด

  6.  การรดน้ำควรรดในช่วงเช้า หรือสังเกตุเห็นว่าดินแห้ง หากให้น้ำมากเกินไป จะก่อให้เกิดความชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเชื้อราที่จะตามมา การรดน้ำควรใช้หัวสเปรย์ขนาดเล็ก เพื่อป้องกันในช่วงเพาะกล้าเมล็ดกระจายออก นอกถาด

การย้ายปลูกลงแปลง 

  1. เมื่อต้นกล้าอายุ 15-20วัน หรือมีจำนวนใบจริง 2-3 คู่ใบ ย้ายลงแปลงปลูก ควรย้ายช่วงเย็น ( แดดไม่แรง ) เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำของต้นกล้าส่งผลให้ต้นกล้ามีการตั้งตัวได้ดีหลังการย้ายปลูก 

  2. ก่อนย้ายปลูกงดน้ำในถาดเพาะ 1 วัน เพื่อให้ดินเกาะรากต้นกล้าได้ดีขึ้น ตุ้มไม่แตกเมื่อนำมาลงปลูก โดยก่อนย้ายต้องให้น้ำในแปลงปลูกอย่างเพียงพอ ไม่แห้งหรือแฉะจนเกินไป 

  3. การวางสายน้ำหยดควรตรวจสอบด้วยว่า สายน้ำหยดต้องอยู่ตรงกับรอยเจาะรูของพลาสติก เพื่อที่น้ำจะหยดลงในจุดที่ปลูกต้นกล้าด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นกล้าได้รับน้ำอย่างเพียงพอ 

  4. ควรทำการเด็ดยอดดอกดาวเรืองหลังการย้ายปลูกประมาณ 10 – 15 วัน ต้องมีใบจริงอย่างน้อย 3 คู่ เด็ดยอดออก 1 คู่ โดยใช้มือด้านหนึ่งจับข้อที่ต้องการเด็ด และโน้มกิ่ง ด้านบนลงจนหักชิดข้อที่จับ ช่วยในการแตกทรงพุ่ม แนะนำให้เด็ดยอดเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ออกดอกเร็วจนเกินไป

การย้ายปลูกลงกระถาง

  1. เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 15-20 วัน หรือมีจำนวนใบจริง 2-3 คู่ใบ ย้ายปลูกลงถุงหรือกระถาง

  2. ไม่ควรย้ายต้นกล้าที่มีอายุมาก เกินไปเพราะระบบรากจะแผ่กระจายได้ช้า เนื่องจากระบบรากนั้นแก่เกินไป ดังนั้นควรย้ายกล้า ในขณะที่รากยังไม่แก่เกินไปจะทำให้รากของต้นกล้ามีการพัฒนาได้ดีกว่า การหาอาหารของราก ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

  3. เจาะหลุมในวัสดุปลูก ให้ลึกพอสมควร แล้ววางต้นกล้าลงไปให้ลึกจนชิดใบเลี้ยง 

  4. แล้วกลบหลุมเพื่อป้องกันต้นกล้าหักล้ม และเพื่อพัฒนาระบบรากให้มีมากยิ่งขึ้น แล้วรดน้ำตามทันที

  5. ช่วงเวลาที่เหมาะสม แก่การย้ายปลูกคือช่วง เย็น (แดดไม่แรง) เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำของต้นกล้า ส่งผลให้ต้นกล้ามีการตั้งตัวได้ดี หลังการย้ายปลูก

  6. ควรทำการเด็ดยอดดอกดาวเรืองหลังการย้ายปลูกประมาณ 10 – 15 วัน ต้องมีใบจริงอย่างน้อย 3 คู่ เด็ดยอดออก 1 คู่ โดยใช้มือด้านหนึ่งจับข้อที่ต้องการเด็ด และโน้มกิ่ง ด้านบนลงจนหักชิดข้อที่จับ ช่วยในการแตกทรงพุ่ม แนะนำให้เด็ดยอดเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ออกดอกเร็วจนเกินไป

การดูแลรักษา

การให้น้ำ

  • ในช่วงแรกคือตั้งแต่เริ่มปลูกถึงอายุ 7 วัน ควรให้น้ำวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หลังจากนั้นให้วันละครั้ง แค่ตอนเช้าก็พอ และในช่วงดอกเริ่มบานจะต้องระวังอย่าให้น้ำถูกดอกดาวเรือง เพราะจะทำให้ดอกเสียหายและเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย 

การให้ปุ๋ย 

  1. หลังจากย้ายปลูก 7- 10 วัน ช่วงเสริมสร้างการเจริญเติบโตของราก ลำต้นและใบ ให้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 หรือ 25-7-7 ในอัตรา 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุกๆ 5-7 วัน ประมาณ 2-3 ครั้ง
  2. หลังจากย้ายปลูก 30-35 วัน ช่วงการเจริญโตถึงระยะสังเกตุเห็นตุ่มดอก ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุกๆ 5-7 วัน จนกระทั่งดอกเริ่มบาน
  3. เมื่อดอกเริ่มบาน ให้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุกๆ 5-7 วัน ต่อเนื่องตลอดอายุการให้ดอก

การเก็บเกี่ยว

  • ดอกดาวเรืองฝรั่งเศส เริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 60 วันหลังหยอดเมล็ดลงถาดเพาะ หรือให้สังเกตจากดอกที่ยังมีกลีบดอกตรงกลางเป็นสีเขียว ดอกดาวเรืองฝรั่งเศสหลังดอกบาน สามารถอยู่ได้หลายวัน ดอกดาวเรืองฝรั่งเศสจะค่อยๆถยอยบาน อยู่ได้นานกว่าดอกที่บานทั้งหมด อายุ 55-60 วัน ดอกดาวเรืองฝรั่งเศสจะเริ่มออกดอก นับตั้งแต่วันหยอดเมล็ด 

โรคที่สำคัญของดาวเรือง และ แมลงศัตรูสำคัญของดาวเรือง

  • โรคใบจุด

 ลักษณะอาการ : ใบเริ่มมีอาการจุดสีขาวแล้วเนื้อเยื่อตรงกลางแผลจะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเนื้อใบที่มีแผลจะค่อยๆ แห้งร่วงหล่นทำให้ลำต้นทรุดโทรม

การป้องกัน : ระมัดระวังการให้น้ำเนื่องจากเชื้อสามารถแพร่กระจายในละอองน้ำได้

สารเคมีที่ใช้ : คลอโรธาโลนิล , แมนโคเซบ , ไอโพรไดโอน , ไดฟีโคลนาโซน

หมายเหตุ : โรคนี้จะระบาดในฤดูฝนในสภาพอากาศที่มีความชื่นสูงๆ 

  • โรคดอกเน่า

ลักษณะอาการ : ระบาดหนักในช่วงฤดูฝนหากเกิดในช่วงดอกกำลังบานจะทำให้ดอกเกิดอาการไหม้ และไม่สามารถบานได้หากเชื้อเข้าทำลายในระยะดอกบานจะทำให้กลีบดอกมีสีน้ำตาล

การป้องกัน : มัดระบาดในช่วงที่มีอากาศร้อนชื้น เช่น มีฝนตกสลับกับแดดออก

สารเคมีที่ใช้ : คลอโรธาโลนิล , มาเนบ , ซีเนบคาร์เบนดาซิม

หมายเหตุ : โรคนี้จะระบาดในช่วงฤดูฝนและในสภาพอากาศที่มีความชื่นสูง

  • โรคเหี่ยวเหลือง

ลักษณะอาการ : เริ่มจากใบดาวเรืองที่มีอยู่บริเวณ โคนต้นแสดงอาการใบเหลืองจะแห้งตายใบทั้งต้น ส่วนของลำต้นจะแบนเหี่ยวและลำต้นลีบ บริเวณคอดินหรือเหนือดิน มักมีสีแดงคล้ำกว่าส่วนอื่น

การป้องกัน : หากพบโรคระบาดให้ขุดต้นถอนทิ้งและพยายามอย่าให้น้ำผ่านบริเวณที่เกิดโรค

สารเคมีที่ใช้ : เบโนมิล , ไธโอฟาเนททิล , อีทรีไดอาโซล

หมายเหตุ : การปลูกแบบยกร่องแปลงจะช่วยควบคุมการระบาดของโรคได้

  • โรคเหี่ยวเขียว

ลักษณะอาการ : เริ่มจากใบดาวเรืองที่อยู่บริเวณด้านบนแสดงอาการเหี่ยวสลดคล้ายอาการขาดน้ำโดยต้นจะแสดงอาการเหี่ยวในช่วงกลางวันที่มีแสงแดด ส่วนตอนเช้าและตอนเย็นต้นจะมีอาการปกติและหลังจากนั้น 4 – 5 วัน ต้นดาวเรืองจะตายโดยที่ใบยังมีสีเขียวอยู่

การป้องกัน : หากพบโรคระบาดให้ขุดต้นถอนทิ้งและพยายามอย่าให้น้ำผ่านบริเวณที่เกิดโรค

สารเคมีที่ใช้ : สเตปโตมัยซิน 120 กรัม ผสมเมทาแลกซิล 25 % 200 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตรรดโคนต้น

หมายเหตุ : การปลูกแบบยกร่องแปลงจะช่วยควบคุมการระบาดของโรคได้

แมลงศัตรูสำคัญของดาวเรือง และการป้องกันกำจัด

  • หนอนชอนใบ

ลักษณะอาการ : ทำลายใบอ่อน พบการระบาดรุนแรงมากตัวหนอนที่ฟักจากไข่ไชชอนเป็นทางยาวหรือสร้างอุโมงค์กัดกินและขับถ่ายอยู่ภายใน รอยทำลายของหนอนชอนใบชนิดนี้มีความยาวโดยเฉลี่ย 17.5 ซม. ใบที่ถูกทำลายแสดงลักษณะแคระแกนบิดเบี้ยว

การป้องกัน : การเพิ่มสารเคมีป้องกันกำจัดควรพ่นในช่วงระหว่าง 6.00 – 9.00 น.

สารเคมีที่ใช้ : คาร์แทป , ไบเฟนทริน , พิโพรนิล

หมายเหตุ : ระบาดในช่วงที่ย้ายปลูกใหม่ ๆ ก่อนเด็ดยอด

  • หนอนกัดดอก

ลักษณะอาการ : หนอนจะกัดกอนดอกจนกลีบดอกร่วงเสียหายโดยเข้าทำลายขณะที่ดอกดาวเรืองเริ่มบาน

การป้องกัน : สังเกตุที่มีผีเสื้อบินในแปลงมากๆ เนื่องจากการวางไข่เป็นตัวหนอน

สารเคมีที่ใช้ : เมโทมิล , อะบาแมกติน (โซนิคติน ) , ไซเพอร์เมทริน

หมายเหตุ : ระบาดในช่วงที่ตุ้มดอก

  • เพลี้ยไฟ

ลักษณะอาการ : จะเข้าทำลายและดูดกินที่ยอดอ่อนทำให้ใบหงิกงอและไม่แตกใบใหม่จะเห็นมีรอยขีดตามใบหรือกลีบเลี้ยงของดอก

การป้องกัน : พยายามรักษาความชื้นในแปลงปลูกให้สม่ำเสมอ

สารเคมีที่ใช้ : เบนฟูราคาบ , พิโพรนิล , ฟอร์มิธาเนล

หมายเหตุ : มักระบาดในช่วงหลังเด็ดยอด

  • ไรแดง

ลักษณะอาการ : พบมากในช่วงฤดูร้อนโดยไรแดงจะมีลักษณะคล้ายแมงมุมขนาดเล็กมากสีแดงมีระบาดปริมาณมากสร้างใยแมงมุมใบพืชที่โดนทำลายจะแสดงอาการเป็นจุดเป็นด่างสีเหลือง

การป้องกัน : พยายามรักษาความชื้นในแปลงปลูกให้สม่ำเสมอ

สารเคมีที่ใช้ : อะมิทราซ , ไดโคไฟ

หมายเหตุ : มักระบาดในช่วงหลังเด็ดยอด

Short URL :