ดอกผีเสื้อ มีดอกหลายสี ปลูกง่าย เหมาะในการทำเป็นไม้กระถาง หรือไม้ถุง ดอกมีชั้นเดียว สีสดใส กลีบดอก เป็นหยักคล้ายปีกผีเสื้อ ต้นสูง 18-20 ซม.
อุปกรณ์ในการเพาะเมล็ดดอกไม้
- ถาดเพาะ หรือ ตะกร้าเพาะ
- วัสดุเพาะ
- เมล็ดพันธุ์ดอกไม้
- ป้ายชื่อพันธุ์ดอกไม้
- บัวรดน้ำแบบฝอยละเอียด
การเพาะเมล็ด
- เพาะเมล็ดในตะกร้าพลาสติก ขนาด 29 x 36 เซนติเมตร หรือใหญ่กว่านี้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนเมล็ดที่ใช้เพาะ
- ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์วางรอบตะกร้าโดยตัดกระดาษให้พอดีกับขอบตะกร้าเพื่อป้องกันวัสดุเพาะร่วง
- ทำการผสมพีทมอสกับสารเคมีกันเชื้อรา Propamocarb hydrochloride (อัตรา 0.4 ซี.ซี ต่อน้ำ 1 ลิตร) คลุกเคล้าให้เข้ากันสังเกตวัสดุเพาะจับตัวเป็นก้อนและมีน้ำซึมตามร่องนิ้วเล็กน้อย
- นำพีทมอสที่ผสมแล้วใส่ตะกร้าประมาณ ¾ ของความสูงตะกร้า
- ใช้ไม้บรรทัดเกลี่ยผิววัสดุให้เรียบ ทำร่องรูปตัววีลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างร่องประมาณ 3 เซนติเมตร
- หยอดเมล็ดลงในร่องอย่าให้แน่นเกินไปแล้วกลบเมล็ดหนาประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยกตะกร้าเข้าโรงเรือนป้องกันฝน
- ดูแลรดน้ำวันละ 1-2 ครั้ง เพื่อให้วัสดุเพาะมีความชื้นเพียงพอ เมื่อต้นกล้าอายุ 6-7 วัน (มีใบเลี้ยง 2 ใบ) จึงย้ายต้นกล้าลงถาดเพาะต่อไป
ดินปลูกสำหรับปลูกลงแปลง
- ไถพรวนและพลิกหน้าดินตากไว้ประมาณ 7 – 10 วัน เพื่อกำจัดวัชพืช
- หลังจากนั้นให้ทำการไถคราดเพื่อกำจัดวัชพืชออกให้หมดและทำให้ดินร่วนซุย ให้รากพืชเดินได้สะดวกเหมาะสำหรับการปลูก
- ถ้าดินมีปัญหาโดยมีค่าความเป็นกรด ด่าง น้อยกว่า 6. 5 ควรเติมปูนขาวเพื่อปรับสภาพ pH ของดิน อัตรา 100 – 300 กก./ไร่
- ในขณะใส่ปูนขาวดินควรมีความชื้นเพื่อให้ปูนทำปฏิกิริยากับดินได้ดียิ่งขึ้น และปล่อยทิ้งไว้ 1 สัปดาห์
- ผสมปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 รองพื้น ใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี และเพิ่มแร่ธาตุในดิน
การย้ายปลูกต้นกล้าลงแปลง
- สำหรับท่านที่ต้องการปลูกประดับแปลง หลังจากต้นกล้าที่ย้ายลงถุงดำตั้งตัวและเจริญเติบโตพอสมควร ประมาณ 15 วันขึ้นไปหรือดูปริมาณรากว่าหุ้มดินในถุงดีแล้ว ก่อนย้ายปลูก 1 สัปดาห์ ควรลดปริมาณการให้น้ำลงเพื่อสร้างให้ต้นกล้า มีความทนทานต่อการย้ายปลูก
หลักการปฏิบัติในการย้ายปลูก
- ย้ายต้นกล้าในตอนที่แดดอ่อนและในร่ม
- เตรียมแปลงปลูกอย่างดี รดน้ำแปลงให้ดินชื้นก่อนการย้ายปลูก
- ก่อนย้ายต้นกล้า ให้รดน้ำต้นกล้าให้ชุ่มก่อนทำการย้ายปลูก ดึงต้นกล้าเบาๆหรือใช้ใช้แหนบคีบ พร้อมดินหุ้มรากไปให้มากๆ เพื่อรากจะได้รับความกระทบกระเทือนน้อยที่สุด
- ปลูกในหลุมที่กว้างพอกับดินที่หุ้มรากมา และควรปลูกให้ใบจริงอยู่ใกล้กับระดับดินมากที่สุด เพื่อที่เวลารดน้ำต้นกล้า จะไม่หักล้มง่าย และแก้ปัญหาต้นกล้ายืด
- รดน้ำให้ชุ่มโดยใช้บัวรดแบบฝอยละเอียด
การเตรียมดินปลูก
ดินปลูกสำหรับบรรจุลงกระถาง
- การเตรียมดินปลูกต้องพิถีพิถันพอสมควร เพราะไม้ดอกส่วนใหญ่มีอายุการออกดอกสั้น โดยเฉพาะไม้ดอกที่ไวต่อแสงจะออกดอกทันทีเมื่อครบอายุและต้นสมบูรณ์ ดินปลูกต้องเป็นดินโปร่ง ร่วนซุย มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี ในขณะเดียวกันอุ้มความชื้นได้ดีพอสมควร
- ดินร่วน 1 ส่วน
- แกลบดิบ 2 ส่วน
- แกลบดำ 1 ส่วน
- ปุ๋ยคอก,ปุ๋ยหมัก 1 ส่วน
- กาบมะพร้าว 2 ส่วน
- โดโลไมท์ เพื่อปรับสภาพความเป็น กรด-ด่างในดิน 0.5 กิโลกรัม
- ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 อัตรา 0.5 กก.
การย้ายปลูกลงถุงหรือกระถาง
- กระถางที่นิยมใช้ ขนาด 6 นิ้ว หรือถุงดำขนาด 4x8 นิ้ว โดยปลูก 1 ต้น ต่อกระถางหรือถุง
- เมื่อต้นกล้ามีอายุ 20-25 วันหลังย้ายลงถาดเพาะ หรือมีใบจริง 2-3 คู่ใบ ต้นกล้าจะโตพอที่จะย้ายได้
- นำต้นกล้าลงในถุงพลาสติก โดยการเจาะหลุมดินให้ลึกและกว้างพอกับดินที่หุ้มรากมา
- นำต้นกล้าหยอดลงในหลุมแล้วกลบด้วยดินโดยให้ชิดถึงใบจริงคู่แรก แล้วกลบหลุมเพื่อป้องกันการหักล้มของต้นกล้า ควรย้ายปลูกในช่วงที่แดดไม่แรง เพื่อช่วยให้ต้นกล้าตั้งตัวได้ดีหลังการย้ายปลูก
- ควรเด็ดยอด เพื่อช่วยในการแตกทรงพุ่ม แนะนำให้เด็ดยอดเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ออกดอกเร็วจนเกินไป
การดูแลรักษา
1. ปุ๋ยระยะที่1 เสริมการเจริญเติบโตของราก ลำต้นและใบ หลังจากย้ายกล้าแล้วประมาณ 7 วัน ให้ปุ๋ยไนโตรเจนสูง สูตร 15-0-0 หรือ 25-7-7 อัตรา 1 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุกๆ 5-7 วัน
2. ช่วงการเจริญเติบโตถึงระยะสังเกตเห็นตุ่มดอก ให้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุก ๆ 3 วัน จนกระทั่งดอกเริ่มบาน
3. เมื่อดอกเริ่มบาน ให้ปุ๋ยสูตร ให้ปุ๋ยสูตร 8 – 24 – 24 หรือ 13 – 13 – 21 อัตรา 75 กรัม หรือ 5 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ 20 ลิตร รดทุกๆ 3 วัน ต่อเนื่องตลอดอายุการให้ดอก
ปุ๋ยเม็ด
สามารถให้ปุ๋ยสูตรต่างๆ เหมือนสูตรน้ำ ระยะที่ 1 – 3 อัตรา 10 กรัม/ต้น ทุกๆ 7 วัน โดยฝังลงในดินหรือใช้ดินกลบ ระวังอย่าให้โดนโคนต้นเพราะอาจทำให้เน่าและไหม้ได้
ข้อควรระวัง :
-
การให้ปุ๋ยเม็ด ระวังอย่าให้โดนโคนต้นเพราะอาจทำให้เน่าและไหม้ได้ ควรฝังลงดินหรือใช้ดินกลบ
-
การให้ปุ๋ยน้ำ อาจสัมผัสโดนใบและทำให้ใบไหม้ได้ ดังนั้นเมื่อรดปุ๋ยแล้วให้รดน้ำเพื่อล้างใบตาม
หมายเหตุ : หากไม่สามารถหาปุ๋ยได้ตามสูตร สามารถใช้ปุ๋ยสูตร 15 – 15 – 15 หรือสูตรเสมอทดแทนได้ทุกระยะ แต่การเจริญเติมโตอาจไม่ดีเท่าสูตรที่แนะนำ หรือสำหรับบางท่านที่ไม่สะดวกในการให้ปุ๋ยบ่อยครั้ง สามารถใช้ปุ๋ยละลายช้า สูตร 14 – 14 – 14 แนะนำเป็นตัว เนเจอร์ โค้ท สามารถปลดปล่อยธาตุอาหารพืช ได้ต่อเนื่อง สม่ำเสมอ นานถึง 3 เดือน แต่จะไม่ดีเท่าการให้ปุ๋ยตามระยะ
การให้น้ำ
- ควรรดน้ำเช้า-เย็น และเมื่อดอกเริ่มบาน อย่ารดน้ำให้ถูกดอก เพราะอาจทำให้ดอกช้ำหรือเน่าได้ การให้น้ำควรให้ดินชุ่มสลับแห้ง ไม่ควรให้ชุ่มตลอดเวลา เพราะอาจเป็นสาเหตุของโรครากเน่า โคนเน่า และทำให้ระบบรากไม่พัฒนา ส่งผลให้ต้นแคระแกร็น ไม่สมบูรณ์ สามารถสังเกตสีของดินหรือวัสดุเพาะ หากมีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม แสดงว่าดินยังชุ่มหรือมีน้ำอยู่ เมื่อดินเปลี่ยนสีเป็นน้ำตาลอ่อน แห้งแข็ง แสดงว่าดินขาดน้ำ