ดอกสีขาว ตาดอกใหญ่สีชมพู ดอกดก ออกดอกนานหลายสัปดาห์ แตกพุ่มได้เรื่อยๆ ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี ไม่ชอบน้ำขัง และชื้นมาก ควรเด็ดยอดเพื่อให้แตกทรงพุ่มแน่น เมื่อต้นมีใบจริง 3 คู่ใบ
การเพาะเมล็ด
-
ถาดเพาะ
-
พีทมอสสำหรับเพาะเมล็ด
-
คีมคีบปลายแหลม (Forecep)
-
ถังพ่นน้ำแบบฝอย
-
แป้งฝุ่นทาตัวสีขาว
-
ตะกร้าสำหรับร่อนกลบ
วิธีการ
1. ทำการผสมพีทมอสกับสารเคมีกันเชื้อรา Propamocarb hydrochloride (อัตรา 0.4 ซี.ซี ต่อน้ำ 1 ลิตร) คลุกเคล้าให้เข้ากันสังเกตวัสดุเพาะจับตัวเป็นก้อนและมีน้ำซึมตามร่องนิ้วเล็กน้อย
2. นำพีทมอสที่ผสมแล้วใส่ถาดหลุมให้เต็มหลุม
3. ทำการเจาะหลุมโดยใช้ถาดเปล่าวางบนถาดที่จะทำการเพาะ กดลงอย่างเบามือ โดยหลุมที่เกิดจะต้องลึกพอประมาณ เมื่อเราวางเมล็ดลงไปยังสามารถเห็นเมล็ดได้ (หลุมที่ลึกจะทำให้เมล็ดงอกช้าได้)
4. นำเมล็ดมาคลุกแป้งให้ทั่วเพื่อให้เห็นเมล็ดได้ง่ายระหว่างเพาะเนื่องจากเมล็ดมีสีดำ ระวังอย่าผสมแป้งมากเกินไป ทำการวางเมล็ดลงไป 1 หลุม ต่อ 1 เมล็ด
5. ทำการกลบเมล็ดโดยใช้พีทมอสที่ยังไม่ได้ผสมน้ำใส่ตะกร้า ร่อนกลบให้มิดเมล็ด ระวังอย่ากลบหนาจนเกินไปจะทำให้เมล็ดงอกช้าพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา Propamocarb hydrochloride (อัตรา 1.0 ซี.ซี ต่อน้ำ 1 ลิตร)
ย้ายไปไว้ในทีพรางแสง 80 – 90% พ่นน้ำฝอยละเอียดทำมุมเฉียงขึ้นให้น้ำตกลงบนวัสดุเพาะ อย่าให้โดนวัสดุเพาะโดยตรงและอย่าปล่อยให้แห้งจะทำให้เมล็ดไม่งอกได้ ในระยะนี้จะใช้เวลประมาณ 4-5 วันในการงอก
การดูแลต้นกล้า
ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เริ่มงอกจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน ระยะนี้ต้องดให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้วัสดุเพาะแห้งหรือเปียกจนเกินไป (วัสดุเพาะแห้งจะทำให้ต้นกล้าชะงักและตาย วัสดุเพาะเปียกจนเกินไปจะทำให้ต้นกล้าเน่า) ระยะนี้ยังคงต้องพรางแสง 80 – 90% อยู่
ระยะที่ 2 มีใบเลี้ยงแผ่เต็มที่ 1 คู่ ใช้เวลาประมาณ 1-2 วันจากระยะที่ 1 ระยะนี้ควรนำไว้ในที่ที่แดดจัด เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นกล้ายืดและเป็นโรคเน่าคอดิน การให้น้ำสามารถใช้หัวบัวแบบละเอียดได้ ช่วงเวลาการให้น้ำสังเกตว่าผิววัสดุเพาะเริ่มเป็นสีน้ำตาลอ่อนจึงเริ่มให้น้ำจนชุ่ม ระวังอย่าให้ต้นกล้าเหี่ยวเพราะจะไม่ฟื้น ในระยะนี้ยังไม่ต้องการปุ๋ยเนื่องจากในพีทมอสยังมีปุ๋ยอยู่
ระยะที่ 3 ระยะนี้จะมีใบจริง 1 คู่แล้วซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-6 วันจากระยะที่ 2 ระยะนี้ต้องการแดดจัด ไม่ควรทำการพรางแสง จะทำให้ต้นกล้ายืดและอ่อนแอ การให้น้ำสามารถใช้หัวบัวรดน้ำแบบละเอียดได้ โดยควรให้น้ำเมื่อผิวหน้าวัสดุแห้งและต้นกล้ายังไม่เหี่ยว แล้วจึงให้น้ำจนชุ่ม วิธีการนี้จะทำให้ต้นกล้าแข็งแรง ไม่เป็นโรคได้ง่าย การให้ปุ๋ยควรใช้ปุ๋ยสูตร 15 -0-0 หรือ 15-15-15 อัตรา 50 ppmN หรือ 3 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ใน 1 สัปดาห์ในทำการให้ปุ๋ย 6 วัน อีก 1 วันเป็นน้ำเปล่า ในระยะนี้ควรพิจารณาปรับค่า pH ของน้ำให้เป็น 4.7-5.0 หรือให้วัสดุเพาะมีค่า pH อยู่ที่ 5.5-5.8 เพื่อป้องกันการขาดธาตุเหล็ก
ระยะที่ 4 ระยะนี้จะมีใบจริง 2 คู่ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 7-8 วันจากระยะที่ 3 การดูแลต้นกล้าระยะนี้จะทำการดูแลเหมือนระยะที่ 3
การย้ายปลูกและการจัดการหลังการย้ายปลูก
การย้ายปลูก
อายุต้นกล้า 25-30 วันนับจากวันเพาะ ไม่ควรย้ายปลูกช้าเพราะจะทำให้ต้นแคระแกร็นและออกดอกไว
วัสดุปลูก ควรเป็นวัสดุที่มีการอุ้มน้ำและระบายได้ดี หากมีการใช้ดินต้องระวังโรคที่มาทางดินด้วย
สูตรแนะนำ
(1) ขุยมะพร้าว 180 ลิตร
(2) ทรายหยาบ 60 ลิตร
(3) เฟอรัสซัลเฟต 0.5 กิโลกรัม
(4) โดโลไมท์ 0.5 กิโลกรัม
(5) ปุ๋ยละลายช้า 250 กรัม
ขนาดกระถางหรือถุงดำ
-
แพงพวยต้นตั้งนิยมใช้ กระถาง 6 นิ้ว หรือถุงดำขนาด 4 x 8 นิ้ว โดยปลูก 1 ต้นต่อกระถางหรือต่อถุง
-
แพงพวยต้นเลื้อยนิยมใช้กระถางแขวน 8 นิ้ว โดยปลูก 3-5 ต้นต่อกระถาง
การจัดการหลังการย้ายปลูก
แสง ความเข้มแสงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของแพงพวย แพงพวยชอบแดดจัด หากปลูกในที่ร่มหรือที่ที่มีการพรางแสงจะทำให้ยืดและไม่ออกดอกแพงพวยเป็นพืชที่เรียกว่า Neutral plant คือจำนวนชั่วโมงแสงไม่มีผลต่อการออกดอก
อุณหภูมิ แพงพวยชอบอากาศร้อน จะทำให้ดอกสีสดและออกดอกเร็ว ต้นสมบูรณ์แข็งแรง หากปลูกในที่ที่มีอากาศเย็นจะทำให้ออกดอกช้า
น้ำ แพงพวยเป็นไม้ดอกที่ต้องการน้ำปานกลาง ไม่ชอบน้ำขังโดยควรให้น้ำเมื่อวัสดุปลูกแห้งแต่ต้พืชยังไม่เหี่ยวและจะให้น้ำจนชุ่ม วิธีการนี้จะช่วยให้แพงพวยแข็งแรง ลดการเป็นโรค ในช่วงฤดูฝนควรงดปลูกแพงพวยเพราะอ่อนแอต่อโรคโคนเน่ารากเน่าได้ง่าย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรใช้พันธุ์ที่ทนทานต่อโรคนี้
ปุ๋ย โดยทั่วไปแพงพวยต้องการความเข้มข้นของปุ๋ยอยู่ที่ 150 ppmN สูตรปุ๋ยที่ต้องการแบ่งตามระยาการเจริญเติบโตดังนี้
- ช่วงการเจริญเติบโตทางใบและลำต้น ช่วงนี้ควรเน้นปุ๋ยไนโตรเจนเป็นหลัก ได้แก่ 15-0-0 หรือ 25-7-7 หากไม่มีสามารถใช้ 15-15-15 ได้ โดยสูตร 15-0-0 หรือ 15-15-15 ใช้อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร สำหรับ 25-7-7 จะใช้ 6 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ใน 1 สัปดาห์จะให้ปุ๋ย 6 วัน อีก 1 วัน เป็นน้ำเปล่าเพื่อไม่ให้ค่า EC ** สูงเกินไป(ค่า เหมาะสมควรอยู่ประมาณ 1.0 -1.5 mS/cm)
- ในกรณีที่ไม่สะดวกในการให้ปุ๋ยบ่อย สามารถใช้เป็นความเข้มข้นสูงได้ โดยชั่งปุ๋ยสูตรดังกล่าวมา 1 กิโลกรัมผสมกับน้ำ 200 ลิตร แล้วหยอดให้กับแพงพวย วิธีการนี้ต้องระวังอย่าหยอดให้มากจนเกินไปจะทำให้ใบไหม้ ต้นเฉาได้ ปุ๋ยสูตรเข้มข้นจะให้สัปดาห์ละครั้ง
ช่วงตุ่มดอก ช่วงนี้เป็นช่วงที่เกิดตุ่มดอก ทรงพุ่มจะใหญ่และเลยออกมานอกกระถาง ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยที่ช่วยเรื่องของตาดอกและลำต้นโดยจะเน้นปุ๋ยที่ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม ใช้ 15-15-15 อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตรสลับกับการใช้ 8-24-24 อัตรา 19 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ใน 1 สัปดาห์จะให้ปุ๋ย 6 วัน อีก 1 วัน เป็นน้ำเปล่า ในกรณีที่ไม่สะดวกในการให้ปุ๋ยบ่อย สามารถใช้เป็นความเข้มข้นสูงได้ โดยชั่งปุ๋ยสูตร 8-24-24 อัตรา 1 กิโลกรัม ผสมกับ 15-15-15 อัตรา 0.5 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร
ช่วงออกดอก ช่วงนี้ควรเปลี่ยนปุ๋ยที่ให้ธาตุโพแทสเซียมสูงเช่น 14-14-21 เพื่อช่วยให้ดอกดก ต้นแข็งแรงต้านทานต่อโรคและสภาวะอากาศที่แปรปรวน ใช้ 14-14-21 อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร หรือความเข้มข้นสูงที่ 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร
การเด็ดยอด นิยมเด็ดยอดแพงพวยเพื่อให้แตกทรงพุ่ม โดยเด็ดเมื่อแพงพวยมีอายุหลังย้ายปลูก 10 วันหรือเมื่อมีใบจริง 3 คู่ โดยจะเด็ดคู่ด้านบนยอดออก 1 คู่ เด็ดให้ชิดเหนือข้อ เนื่องจากใบจะแตกตรงบริเวณซอกใบที่ทำการเด็ดออก นิยมทำการเด็ดยอดครั้งเดียว
Short URL :